นาฏศิลป์ไทยเป็นศิลปะแห่งการละคร การฟ้อนรำ และขับร้อง เอกลักษณ์ประจำชาติไทยอย่างหนึ่ง ได้รับอิทธิพลเช่นเดียวกับประเทศพม่าและชวา (อินโดนีเซีย) คือมาจากประเทศอินเดียซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดนาฏศิลป์ตะวันออก โดยเฉพาะท่ารำได้รับแบบแผนมาจากท่าการร่ายรำของพระอิศวรมีทั้งหมด 108 ท่า ดังเช่นท่ารำของเทวรูปศิวะปางนาฏราชเป็นอิทธิพลสำคัญต่อแบบแผนการสืบสานและถ่ายทอดนาฏศิลป์ไทยจนเป็นเอกลักษณ์ของตนเองจนถึงปัจจุบัน นาฏศิลป์ไทยมีหลายประเภทคือ การแสดงโขน ละคร (คำว่า “ละคร” เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 5 เช่น ละครพูด ละครเพลง ลิเก) รำและระบำ การแสดงแบบพื้นบ้านของภาคต่างๆ และมหรสพไทย (กระบี่กระบอง หุ่นใหญ่)
การแสดงที่เป็นศิลปะชั้นสูงเก่าแก่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาคือ การแสดงโขน นวนิยายวรรณคดีที่รู้จักกันแพร่หลายและถูกนำมาแสดงที่สุดคือ รามเกียรติ์ เนื้อเรื่องยาวมากและมีต้นเค้ามาจากวรรณคดีอินเดีย คือ รามยณะ ตัวแสดงหลักคือฝ่ายมนุษย์เทวดา ฝ่ายยักษ์ และฝ่ายลิง ตัวแสดงจะต้องใส่หัวโขน ผู้ชมสามารถเข้าใจเนื้อเรื่องได้โดยสังเกตจากท่ารำมีการปรุงแต่งจากท่าทางแสดงความรู้สึกและอารณ์ตามธรรมชาติให้มีลีลาที่สวยงามน่าชมพร้อมดนตรีประกอบ โดยหลักใหญ่โขนใช้แสดงเป็นมหกรรมบูชา ในงานมหรสพสมโภช งานพระราชพิธีต่างๆ สำคัญ เป็นต้น