ดนตรี
บันไดเสียงของดนตรีไทยมี 7 เสียง แต่ละเสียงห่างเท่ากัน คือ โด-เร-มี-ฟา-ซอล-ลา-ที-โด ต่างกับบันไดเสียงดนตรีสากลซึ่งดนตรีสากลจะมีช่วงครึ่งเสียงที่ มี-ฟา และ ที-โด ทำให้ดนตรีไทยและดนตรีสากลไม่สามารถบรรเลงเข้ากันได้ในบางเสียง
เครื่องดนตรีเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อทำเสียงให้เป็นทำนองหรือจังหวะด้วย 4 วิธีคือ ดีด สี ตี เป่า เครื่องดนตรีไทยจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนชนชาติใด ตลอดจนยังแตกต่างกับเครื่องดนตรีสากลหลายประการ และเครื่องดนตรีเกือบทุกประเภทจะทำจากวัสดุ “ไม้” ที่แกร่ง คุณภาพดี (ต้องเป็นไม้มีอายุกว่า 30 ปี) และหาง่ายในท้องถิ่นนั้นๆ ฉะนั้นในแต่ละภาคเครื่องดนตรีพื้นเมืองจึงต่างกัน
ภาคเหนือ เช่น วงสะล้อ ซอ ซึง วงปูเจ่ วงกลองแอว ปี่แน กลองตะโล้ดโป๊ด ฉาบใหญ่ ฆ้องโหม่ง ฆ้องหุ่ย ภาคกลาง เช่น กลองยาว กลองโทน ฉิ่ง ฉาบ กรับ และโหม่ง
ภาคอีสาน เช่น แคน พิณ ซอ กลองยาว อีสาน ฉิ่ง ฉาบ ฆ้อง กรับ โปงลาง โหวด ซอด้วง ซอครัวเอก กลองกันตรึม พิณ ระนาด เอกไม้ ปี่สไล กลองรำมะนา
ภาคใต้ เช่น กลองโนรา กลองโพน กลองปืด โทน ทับ กรับพวง โหม่ง ปี่กาหลอ ปี่ไหน รำมะนา ไวโอลิน อัคคอร์เดียน เครื่องดนตรีต่างๆ ดังกล่าว หากนำมาประสมวงกันจะได้ 3 ประเภคใหญ่ๆ ที่อาจจะได้ยินชื่อคุ้นหูกันบ้างแล้วคือ
- 1. วงปี่พาทย์ ประกอบด้วยเครื่องตี ได้แก่ ระนาด ฆ้องวง ปี่ กลอง ฉิ่ง ฉาบ มักบรรเลงค่อนข้างเร็ว โลดโผน มีเสียงแกร่งกร้าว
- 2. วงเครื่องสาย ประกอบด้วยเครื่องสาย ซอด้วง ซออู้ ขลุ่ย ฉิ่ง ฉาบ กลอง จะเข้ มีเสียงบรรเลงได้ทั้งรุกเร้า รวดเร็ว และไพเราะนุ่มนวล
- 3. วงมโหรี ประกอบด้วยเครื่องดนตรีจากวงปี่พาทย์และวงเครื่องสายประสมกันตามสมควร การบรรเลงเป็นระเบียบเรียบร้อย
งานที่มีพระสงฆ์สวดมนต์หรือฉันอาหาร – วงปี่พาทย์
ทำบุญบ้าน ทำบุญวันเกิด - เครื่องสาย
งานแต่งงาน – วงมโหรีหรือวงเครื่องสาย
พิธีอุปสมบท – วงปี่พาทย์
งานพิเศษ (รับแขกผู้มีเกียรติ) – วงประเภทไหนก็ได้ตามความพอใจ
งานศพ – วงปี่พาทย์นางหงส์ วงปี่พาทย์มอญ
ผู้เล่นดนตรีไทยจะต้องจำเนื้อร้องทำนองเพลงที่บรรเลงได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากไม่มีโน้ตให้อ่าน ส่วนการฟังดนตรีไทยให้เข้าถึงอรรถรสของดนตรีที่แท้จริง ให้สังเกตผู้เล่นบรรเลงถูกทำนองตามหน้าที่หรือไม่ และเนื่องจากเสียงบรรเลงจะเป็นสื่อถ่ายทอดอารมณ์ (รัก โศก รื่นเริง ขับกล่อม) ก็ให้ปล่อยอารมณ์ไปตามเสียงนั้น