การรำไทยเป็นการแสดงประเภทหนึ่งของ “นาฏศิลป์ไทย” มีเอกลักษณ์การร่ายรำโดยการเคลื่อนไหวประกอบกับเสียงดนตรีด้วยลีลาที่อ่อนช้อยและสอดคล้องกลมกลืนกันระหว่างส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยเฉพาะมือ แขน เท้า และลำตัว มีบทขับร้องด้วยหรือไม่ก็ได้ มีผู้แสดงตั้งแต่ 1-2 คนขึ้นไป แบ่งประเภทเป็นการรำเดี่ยว รำคู่ หรือรำหมู่ แต่งกายตามรูปแบบของการแสดง ท่ารำจะเชื่อมโยงต่อเนื่องกันและเป็นสื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าใจและลึกซึ้งถึงอารมณ์ของผู้แสดงได้ เพลงรำมีทั้งเร็วและช้า ทั้งนี้ สามารถแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นการรำพื้นเมืองจากทางภาคใดด้วย อาทิเช่น การรำพื้นเมืองภาคเหนือ นิยมเรียกกันทั่วไปว่า “ฟ้อน” จะมีท่าทางลีลาที่อ่อนช้อย นุ่มนวล การรำพื้นเมืองภาคกลาง จะมีท่ารำสอดคล้องกับวิถีชีวิตประจำวัน รำเพื่อความบันเทิงสนุกสนาน พักผ่อนหย่อนใจหลังจากทำงาน การรำภาคอีสานส่วนมากจะเรียกว่าการรำ “เซิ้งและหมอลำ” มีจังหวะรวดเร็ว เร้าใจและสนุกสนาน น้อยคนนักเมื่อได้ยินเสียงจะยังคงนั่งอยู่กับที่เฉยๆ ได้ ส่วนการรำภาคใต้ก็จะเร็วและสนุกสนานเช่นกัน
การเรียนรำไทยถือว่าเป็นการช่วยเผยแพร่และอนุรักษ์ศิลปะอันมีค่าของชนชาติไทยให้สืบต่อไป นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาด้านสมาธิ กล้าแสดงออก เป็นคนมีระเบียบ ร่าเริง จิตใจเยือกเย็น เรียนรู้วิธีร่วมงานกับผู้อื่น และที่สำคัญเห็นได้ชัดคือ การรำไทยช่วยเสริมสร้างให้มีบุคลิกทรวดทรงที่งดงามและสมดุลกัน